ฝรั่งอยากฟังอะไรจากเรา ?
ในข้อสอบการพูด
อาจารย์จะให้คะแนนผู้สอบโดยพิจารณาจากคุณสมบัติ 4 ส่วน
·
ความคล่อง ฉะฉาน และไอเดียต่อเนื่อง
·
คลังคำศัพท์
และการเลือกใช้ศัพท์ที่ถูกต้อง
·
ความแข็งแกร่ง แม่นยำของไวยากรณ์
·
การออกเสียง สำเนียงที่เหมาะสม
อะไร คือ “ความฉะฉาน” (fluency) และ “ความคิดที่ต่อเนื่อง” (coherence) ?
อธิบายง่ายๆ ก็คือ
ความสามารถในการรักษาระดับการพูดด้วยสปีดที่กำลังดี ไม่ใช้คำซ้ำจนน่าเบื่อ
พูดผิดซ้ำๆ ซากๆ
หรือหยุดคิดบ่อยและนานจนเกิดความเงียบ ผู้สอบที่มีทักษะการพูดที่ดีนั้น
นอกจากจะรู้จักวิธีแปลความหมายและอธิบายคำที่ไม่รู้จักหรือลืมออกได้มาแล้ว (Paraphrasing) ยังต้องสามารถจัดระเบียบเชื่อมโยงความคิดได้ดีด้วย และสามารถถ่ายทอดขยายความออกมาอย่างชัดเจน
โดยไม่รู้สึกลำบากลำบนเกินไปนัก ที่สำคัญที่สุด ผู้สอบที่พูดคล่องและแสดงไอเดียได้อย่างลื่นไหลนั้น
จะต้องตอบคำถามได้กระจ่าง มั่นใจ ผ่อนคลาย และเป็นธรรมชาติ
แล้วเราจะทำแบบนี้ได้ไหม?
มีตัวเลขที่น่าตกใจว่า
คนจำนวนมากไม่เคยได้ยินตัวเองพูดภาษาอังกฤษ และเราก็อาจเป็นหนึ่งในนั้นด้วย
ดังนั้น วิธีแก้ไขก็คือ ลองอัดเสียงพูดของตัวเอง
โดยหาตัวอย่างคำถามที่มีอยู่มากมายในอินเตอร์เน็ตและหนังสือ
แล้วตอบเป็นภาษาอังกฤษดู
ซึ่งตรงนี้เราสามารถให้เพื่อนช่วยเล่นเป็นอาจารย์คุมสอบก็ได้
แต่ต้องมั่นใจว่าเพื่อนเราจะไม่เผลอบอกคำถามที่กำลังจะเริ่มว่าคืออะไร
จากนั้นก็ใช้มือถือหรือโปรแกรมบางอย่าง (เช่น Audacity at http://audacity.sourceforge.net/) มาบันทึกการสัมภาษณ์หลอกๆ นี้ และเปิดฟังเมื่อตอบคำถามเสร็จ
อะไร คือ สัญญาณอันตราย?
·
เราพูดช้าไปหรือเปล่า?
·
รู้ตัวไหมว่า เรา…หยุด…ระหว่าง…คำ…นาน…ไป
·
รู้ตัวไหมว่า กำลังพูดซ้ำ
คำนี้เพิ่งพูดไป คำนี้มาอีกแล้ว
·
รู้ตัวไหมว่า เราพูดผิด
แต่ขอแก้ใหม่ พูดใหม่ ก็ยังผิด แก้คำถูกๆ ผิดๆ มากเกินไป
·
รู้ตัวไหมว่า เราหยุดคิดนานเมื่อเจอศัพท์ที่ไม่รู้จัก
หรือนึกคำไม่ออก
·
รู้ตัวไหมว่า เราตอบไม่ตรงคำถาม
แถมยังริตั้งคำถามใหม่
ลองถามตัวเองด้วยคำถามเหล่านี้ หากตอบ “ใช่”
เป็นส่วนใหญ่ล่ะก็
นี่แหละสัญญาณอันตรายที่จะทำให้เราถูกตัดคะแนนความฉะฉานและความต่อเนื่อง
ปัญหานี้ ซ่อมได้ ?
ไม่มียาวิเศษใดที่กินแล้วทำให้เราเก่ง
ฉะนั้นปัญหาข้างต้นนี้ก็ไม่ง่ายนักที่จะแก้ไขให้เสร็จทันตา แต่ว่าเราสามารถลดผลกระทบที่ตามมาได้
·
ความเร็วของคำพูด – เร่งสปีดขึ้นมาอีกนิด อย่ากังวลมากเกินไปว่าจะหลุดแกรมม่า
พยายามรักษาจังหวะการพูดให้เป็นธรรมชาติ และไม่เกร็งดีกว่า
·
ช่องว่างระหว่างคำ – ใช้วิธีแบบนักการเมือง ที่นิยมทวนคำถาม หรือเกริ่นนำ
เป็นการซื้อเวลาสั้นๆ ได้อย่างแนบเนียบ เช่น “คำถามนี้น่าสนใจทีเดียว…” หรือ “อืม
ผมไม่เคยคิดถึงประเด็นนี้มาเลยจริงๆ …” เพียงแค่นี้เราก็มีเวลาคิดเพิ่มอีกสัก 5-10 วินาทีแล้ว
·
พูดซ้ำ พูดผิดแก้ใหม่ – อย่ากลัวที่จะพักสูดลมหายใจให้เต็มปอด ก่อนเริ่มตอบคำถาม
เพราะเป็นสิ่งที่เจ้าของภาษาเขาทำกัน และเราก็ควรเอาแบบอย่างด้วย
ยิ่งเราตอบเร็วมากเท่าไร ยิ่งเป็นการเพิ่มโอกาสในการพูดผิดและเลือกคำซ้ำมากเท่านั้น
·
ศัพท์ใหม่ไม่รู้ ศัพท์เก่าลืม – พยายามหาทางออกจากอุปสรรคให้เร็วที่สุด เช่น
ถ้าอาจารย์ถามเกี่ยวกับดอกไม้ที่มีความสำคัญต่อประเทศไทย แต่เรานึกไม่ออกว่า
“มะลิ” ในภาษาอังกฤษคือคำว่าอะไร เราอาจพูดออกไปว่า “ผมลืมชื่อภาษาอังกฤษครับ
แต่ลักษณะของดอกชนิดนี้เป็นดอกกลีบเล็กสีขาว กลิ่นหอม…” เป็นต้น
ข้อสอบพูด ถือเป็นส่วนที่ยากสำหรับนักเรียนไทย
เพราะว่าไม่ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ต้องสนทนาเป็นภาษาอังกฤษ ฉะนั้นจึงควรฝนฝึกอย่างสม่ำเสมอ
เพื่อให้เกิดความเคยชิน ทั้งในแง่การบริหารความคิด
และบริหารกล้ามเนื้อใบหน้าและรอบๆ ปาก
ซึ่งก็เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่ทำให้เราฟุดฟิดฟอไฟฟ์ได้คล่องขึ้น
![]() |
เกี่ยวกับผู้เขียน
Russell Evans มีประสบการในการสอนภาษาอังกฤษในประเทศไทยมากว่า 10 ปีแล้ว และนอกจากนี้ ยังมีส่วนร่วมในการให้ความช่วยเหลือนักเรียน กับทีม British Council - IELTS มาตั้งแต่ปี 2004
|
No comments:
Post a Comment