บทความโดย Jeremy Hanlan

มารู้จักกันก่อน...เค้าโครงข้อสอบ
ในข้อสอบหมวดการอ่าน (Reading Test) จะมีทั้งหมด 40 ข้อ กับเวลาหนึ่งชั่วโมงเต็ม โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก แต่ละส่วนมีความยากแตกต่างกันไป เริ่มตั้งแต่ ยากน้อย ยากมาก ไปจนถึงยากสุดๆ ทั้งนี้ ข้อสอบแต่ละชุดจะไม่เรียงลำดับข้อง่ายไปยาก แต่จะใช้วิธีการสุ่มและผสมสลับกันไปในแต่ละชุดคำถาม
ลองมาดูตัวอย่างลักษณะคำถามที่จะได้เจอกัน
- ปรนัย หรือ ตัวเลือก
- จับคู่หัวข้อ
- เลือกตอบ ถูก/ผิด
- เขียนคำตอบสั้นๆ เช่น สรุปย่อความ และ เติมประโยคให้สมบูรณ์
- การแบ่งประเภท
- กำหนดแผ่นภูมิ หรือ ตำแหน่งการทำงาน
หัวข้อเรื่องในข้อสอบแต่ละส่วน มีทั้งที่เป็นเนื้อหาเชิงวิชาการ เรื่องราวที่น่าสนใจทั่วไป และข้อมูลเชิงเทคนิค ซึ่งแต่ละบทความจะมีความยาวระหว่าง 750 ถึง 1000 คำ
ระดับเกณฑ์สำหรับผู้สอบ
ระดับ 5 ผู้สอบสามารถทำข้อสอบได้ถูกต้องประมาณ 18-20 ข้อ
ระดับ 5.5 ประมาณ 21-22 ข้อ
ระดับ 6.0 ประมาณ 23-25 ข้อ
ระดับ 6.5 ประมาณ 26-27 ข้อ
เคล็ดไม่ลับ
ทั้งๆ ที่เป็นเคล็ดไม่ลับ แต่หลายคนมักลืมอยู่เสมอ นั่นก็คือ การอ่าน! อ่านทุกอย่างที่ขว้างหน้า
จากการสำรวจพบว่า ในแต่ละวัน คนส่วนใหญ่อ่านหนังสือน้อยเกินไป ซึ่งนี่เป็นสาเหตุทำให้เราคุ้นเคยกับการอ่านน้อยลง และรู้สึกตะขิดตะขวงใจหากต้องจับหนังสืออีกครั้ง แม้ว่าบางคนจะอ้างว่า ตัวเองอ่านข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตก็เถอะ แต่นั่นก็ไม่ใช่การอ่านที่ถูกลักษณะนัก เพราะอินเตอร์เน็ตออกแบบมาเพื่อให้ผู้ใช้ติดตามข่าวสารแบบรวดเร็ว อ่านคร่าวๆ ผ่านเครื่องมือค้นหาและอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งของเหล่านี้ไม่มีอยู่ในข้อสอบเลยสักนิด
การอ่านหนังสือช่วยเพิ่มคลังคำศัพท์ที่มักปรากฏในข้อสอบไม่ว่าจะหมวดการอ่าน การเขียน การพูด หรือการฟัง ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับ 4 หัวข้อใหญ่ๆ คือ
- การศึกษา
- เทคโนโลยี
- สิ่งแวดล้อม
- สังคม
ฝึกฝนเทคนิคการอ่าน
หนึ่งในเครื่องมือพัฒนาทักษะการอ่านเพื่อทำข้อสอบที่ดีที่สุดก็คือ IELTS Reading Tests และสื่อเสริมทักษะอื่นๆ! ที่สามารถเลือกฝึกได้ตามใจชอบ ทั้งที่เป็นหนังสือคู่มือ และบนเว็บไซต์ http://www.britishcouncil.org/professionals-exams-ielts-reading-exam-1-1.htm.
การฝึกฝนให้สัมฤทธิ์ผลก็คือ เราต้องลองนั่งทำข้อสอบนั้นอย่างจริงจัง โดยอาจเริ่มจากคำถามง่ายๆ และค่อยๆ เพิ่มระดับความยากให้กับตัวเอง จากนั้นก็เช็คคำตอบและอ่านทบทวนดูว่า ตรงที่เราทำผิดพลาดไปนั้นมันเป็นเพราะอะไร หากผิดเยอะก็อย่างเพิ่งท้อใจ ตั้งหน้าตั้งตาฝึกทำบ่อยๆ เมื่อถึงเวลาหนึ่ง เราก็จะเริ่มคุ้นเคยกับรูปแบบและรู้จักวิธีการแก้ปัญหาในข้อสอบแต่ละประเภทในที่สุด
ลำดับความสำคัญ
เมื่อเริ่มทำข้อสอบ จงพิจารณาก่อนเลยว่า ข้อไหนที่ “หมู” สำหรับเรา จากนั้นก็ลงมือทำข้อนั้นเป็นอันดับแรก อย่าเริ่มทำแบบเรียงข้อตั้งแต่ 1 ถึง 40 เพราะโชคอาจไม่เข้าข้าง เราอาจติดขัดในคำถามข้อใดข้อหนึ่ง ซึ่งทำให้คุณเสียเวลาไปอย่างน่าเสียดาย คาถาข้อเดียวคือ “ข้อง่ายทำก่อน ข้อยากทำทีหลัง”
จำไว้ให้ดี! แต่ละคำถาม ไม่ว่าจะง่าย หรือยาก มีคะแนนเท่ากันที่ 1 คะแนน
ถ้าไม่สามารถทำได้ครบทั้ง 40 ข้อ ไม่ต้องเก็บเอามาคิดให้หนักหัว แต่ถ้ารู้ตัวว่าทำข้อนั้นได้แล้วไม่ทันได้ตอบ นี่แหละปัญหาตัวจริง
![]() | เกี่ยวกับผู้เขียน นับตั้งแต่ย้ายมาทำงานและใช้ชีวิตในเมืองไทย Jeremy Hanlan ได้คลุกคลีกับข้อสอบ IELTS ในทุกแง่มุม ทั้งในฐานะผู้คุมสอบ อาจารย์คอร์สเตรียมสอบ เจ้าหน้าที่ฝึกหัดครู และผู้พัฒนาหลักสูตรการสอน IELTS รวมทั้งยังเป็นนักเขียนอีกด้วย ปัจจุบัน Jeremy เป็นอาจารย์สอนภาษาอังกฤษที่ British Council สาขาสยามสแควร์ ไปพร้อมๆ กับการทำงานเขียน และพัฒนา 4 หลักสูตร IELTS อีกทั้งยังเป็นวิทยากรเวิร์กช็อปให้แก่คณาจารย์ เพื่อเพิ่มความสามารถในการสอนเกี่ยวกับข้อสอบ IELTS ทั้ง 4 หมวดอีกด้วย |
No comments:
Post a Comment